whole in one golf blog

Monday, March 31, 2008

ประวัติกอล์ฟ อุปกรณ์ การดู กติกา


ประวัติกีฬากอล์ฟ

กอล์ฟ เป็นกีฬาที่เล่นในยามว่าง และแข่งขันกันทั้งระดับสมัครเล่นและระดับอาชีพ เป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในความนิยมระดับโลก ผู้เล่นจะมีไม้หลายอันเป็นชุด แต่จะต้องไม่เกิน 14 อัน ใช้ตีลูกเล็กๆ จบกันเป็นหลุมต่อเนื่องกันไป อาจจะ 9 หรือ 18 หลุมตามแต่กำหนด โดยนับการตีจำนวนครั้งน้อยที่สุดจะดีที่สุด สนามต่างๆ ที่ใช้เล่นได้รับการออกแบบมาให้มีระยะทาง อุปสรรคต่างๆ ในแต่ละหลุมเช่นอุปสรรคน้ำ บังเกอร์ทราย ต้นไม้ ความลาดเทของสนามและกรีน เป็นต้น เพื่อให้มีความยากง่ายและความท้าทายในการเล่น

มีหลายประเทศอ้างว่าเป็นประเทศต้น กำเนิดกีฬากอล์ฟ เช่นประเทศเยอรมันนี ในศตวรรษที่ 14 เจ้าของฝูงแกะซึ่งจ่ายภาษีให้กับขุนนางเจ้าของที่ดิน ได้รับสิทธิ์ใช้ผืนที่ดินเลี้ยงแกะโดยขุนนางให้ใช้ไม้ที่ปลายตาขอสำหรับ เกี่ยวคอแกะ ตีก้อนหินลูกกลมๆ ตามจำนวนครั้งเป็นเท่ากับจำนวนแกะที่เลี้ยงไว้ ขนาดผืนดินใช้เลี้ยงแกะเท่ากับความกว้างยาวที่เจ้าของฝูงแกะตีได้ อีกทฤษฎีหนึ่งของจุดเริ่มต้นกีฬากอล์ฟ มาจากชาวประมงชาวสกอตที่กลับจากการหาปลา เวลาเดินผ่านทุ่งหญ้าก็เอากิ่งไม้เดินหวดลูกหินไปตามทาง และเมื่อหวดไปครั้งหนึ่งก็ลองหวดต่อไปเรื่อยๆ ดูว่าจะตีไปได้ไกลกว่าลูกแรกหรือไม่ เมื่อลูกหินหล่นลงไปในบ่อหรือแอ่งดินที่แกะใช้เป็นที่หลบภัยธรรมชาติ ชาวประมงก็ต้องใช้ความสามารถที่จะตีให้ลูกหินออกมาได้จนกว่าจะเดินถึงบ้าน บ่อนั้นก็ได้พัฒนามาเป็นบังเกอร์ทราย เมื่อลูกกอล์ฟตกลงไปในโพรงที่กระต่ายขุดไว้ก็เท่ากับเป็นการค้นคิดวิธีการ เล่นกอล์ฟขึ้นมาในตัวเองว่าเกมส์จะจบลงเมื่อลูกลงหลุม

เป็นที่ยอมรับกันว่ากีฬากอล์ฟหรือกีฬาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ได้เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่ยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงได้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ริเริ่มขึ้นเมื่อใด ได้มีการค้นคว้าหาจุดเริ่มต้นย้อนอดีตไปจนถึงยุคจักกรวรรดิ์โรมันซึ่งมีการ เล่นเกมส์ที่เรียกว่า พากานิก้า (Paganica) บ้างก็อ้างว่ากีฬากอล์ฟพัฒนามาจากการเล่น ชูเดอมาล (Jeu de mail) ของชาวฝรั่งเศส หรือ โคลเวน (Kolven) ของชาวฮอลแลนด์ นอกจากนั้นก็ยังมีเกมส์อื่นๆ ซึ่งเล่นกันในหมู่ขุนนางอังกฤษ และจักรพรรดิ์โรมันเล่นในยามว่าง เป็นเกมส์ที่ยืนด้านข้าง ใช้ไม้ตีลูกที่มีเปลือกทำจากหนังวัวบางๆ เย็บติดกันและยัดไส่ด้วยขนห่าน และลูกที่ใช้ตีในบางเกมเป็นแกนไม้เนื้อแข็ง นำมาขัดเป็นก้อนกลมๆ และบางเกมในทวีปยุโรปสมัยก่อน เล่นกันเป็นทีมโดยฝ่ายหนึ่งตีลูกสามครั้งให้โดนเป้าตามระยะที่กำหนด ส่วนฝ่ายตรงข้ามต้องพยายามตีลูกหนึ่งครั้งกลับไปอยู่ในที่ที่เป็นอุปสรรค

ระยะเวลาหกร้อยปีที่ผ่าน มา เกมส์ต่างๆ ในทวีปยุโรปได้พัฒนาจนเข้าสู่ยุคของสกอตแลนด์ซึ่งได้อ้างอย่างหนักแน่นตาม หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนว่าเป็นประเทศต้นกำเนิดกีฬากอล์ฟ ในกลางศตวรรษที่ 15 ในช่วงที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ กีฬากอล์ฟได้เล่นกันในสมัยพระเจ้าเจมส์ที่สองแห่งราชวงศ์สกอตจากการทำศึกต่อ สู้กับอั งกฤษในสมัยนั้น ทางสกอตแลนด์มีบันทึกที่กล่าวไว้ว่า ทางรัฐสภาสกอตได้มีการให้ยกเลิกการเล่นกอล์ฟไปหลายปี เนื่องจากพลธนูและนายทหารไม่ไปซ้อมยิงธนู แต่ได้หันไปติดเล่นกอล์ฟ และ 40 ต่อมาได้มีการสงบศึกกับอังกฤษ พระเจ้าเจมส์ที่สี่ก็รีบยกเลิกกฎหมายห้ามการเล่นกอล์ฟตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในศตวรรษที่ 16 กีฬากอล์ฟถือได้ว่าเป็นกีฬาที่เล่นอย่างแพร่หลายในฝั่งตะวันตกของประเทศ สกอตแลนด์

กลางศตวรรษที่ 18 กลุ่มนักกอล์ฟชายในสกอตแลนด์ได้ก่อตั้งสมาคมกอล์ฟขึ้น โดยกำหนดกฎข้อบังคับที่ใช้ในการเล่นกอล์ฟ ต่อมาก็ได้ก่อตั้งสโมสรเดอะรอแยลแอนด์เอนเชียนกอล์ฟคลับออฟเซนต์แอนดรูวส์ (The Royal and Ancient Golf of Saint Anderws ใช้ชื่อย่อว่า R&A) ซึ่งเป็นสมาคมกอล์ฟที่เก่าแก่ที่สุด เพื่อกำหนดและแก้ไขกฎข้อบังคับและมารยาทสำหรับกีฬากอล์ฟอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 20 สมาคมกอล์ฟแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Golf Association ใช้ชื่อย่อว่า USGA) ได้เข้ามาร่วมวินิจฉัยแก้ไขเพิ่มเติมกฎข้อบังคับและมารยาทสำหรับกีฬากอล์ฟ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น กีฬากอล์ฟได้เริ่มเล่นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 และนิยมเล่นกันแพร่หลายไปทั่วโลกตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20

อย่างไรก็ตามผู้ที่ บุกเบิกกีฬากอล์ฟแพร่หลายคือชาวสกอตและพัฒนาการเล่นจากทุ่งหญ้าชายฝั่งทะเล ไปที่ต่างๆ ทั่วโลกที่ชาวสกอตไปตั้งรกรากถิ่นฐานทำมาหากิน ด้วยความหลงไหลในกีฬากอล์ฟทำให้ชาวสกอตนำไปเผยแพร่และสอนให้ชาติอื่นๆ ได้เรียนรู้วิธีการเล่น รวมทั้งการวางกฎข้อบังคับที่ใช้ในการเล่นมาจนถึงทุกวันนี้

เเนะนำอุปกรณ์กอล์ฟ

การนำอุปกรณ์ใดๆ เช่น ไม้กอล์ฟ และลูกกอล์ฟเข้าไปเล่น จะต้องเป็นตามกฎข้อบังคับที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในหนังสือกฎข้อบังคับและ มารยาท จำนวนไม้กอล์ฟที่นำมาใช้เล่นโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นไม้หรือเหล็กเบอร์ใด จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 14 อัน ไม้หรือเหล็กแต่ละเบอร์ใช้ตีตามระยะที่ต้องการแตกต่างกันไป
ไม้กอล์ฟที่ใช้เล่นส่วนใหญ่มีหัวไม้ (ปัจจุบันได้ผลิตออกมาหัวโลหะ) เบอร์ 1, 3, 4, 5 และ 7 เป็นต้น

ส่วนไม้ที่มีหัวเป็นเหล็กอาจใช้ ตั้งแต่ เบอร์ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 มีมุมองศาของหน้าเหล็ก และตีได้ตามระยะทางต่างกัน รวมไปถึงไม้เว็ดจ์ (wedge) เช่น พิชชิ่งเว็ดจ์และแซนด์เว็ดจ์ซึ่งใช้เล่นในสถานการณ์และทำเลที่ลูกอยู่แตก ต่างกัน คือการเล่นลูกเข้าสู่กรีนระยะใกล้ หรือเล่นลูกบริเวณที่มีหญ้ายาวและในบ่อทราย เป็นต้น

การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ จะมีกำหนดให้ไว้ตามระยะ หรือตามความใกล้ไกลของการตีลูก เช่น

หัวไม้ 1 ตีได้ไกลที่สุด
หัวไม้ 3 และ 5 ตีได้ลดหลั่นลงมา
เหล็ก 3 ตีได้ระยะ 170 หลา
เหล็ก 4 ตีได้ระยะ 160 หลา
เหล็ก 5 ตีได้ระยะ 150 หลา
เหล็ก 6 ตีได้ระยะ 140 หลา
เหล็ก 7 ตีได้ระยะ 130 หลา
เหล็ก 8 ตีได้ระยะ 120 หลา
เหล็ก 9 ตีได้ระยะ 110 หลา
เหล็ก 8 พิชชิ่งเว็ดจ์ ตีได้ระยะ 100 หลา
เหล็ก S แซนด์เว็ดจ์ ใช้ตีจากบ่อทราย ระยะไม่เกิน 80 หลา

หมายเหตุ แท่นทีออฟ จะมีหลายระยะ เช่น แท่นของโปร-ของชายทั่วไป-ของสุภาพสตรี-เยาวชน

แนะนำการดูกอล์ฟ

กีฬากอล์ฟเป็นกีฬาสากลที่ทั่วโลกนิยมเล่น กันอย่างแพร่หลายรวมถึงประเทศไทยซึ่งในปัจจุบันได้มีสนามกอล์ฟที่สวยงามและ มีมาตรฐานเกิดขึ้นหลายแห่ง อีกทั้งยังได้มีผู้ที่ได้ให้ความสนใจ และหันมาเล่นกอล์ฟเพิ่มขึ้นทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับในประเทศอื่นๆ กอล์ฟเป็นกีฬาที่เล่นในยามว่างเป็นกีฬาที่ยืนด้วนข้างแล้วใช้ไม้กอล์ฟตีลูก จากเขตตั้งทีต่อเนื่องกันไปจนกระทั่งลูกลงหลุม และจะต้องใช้เวลาเผื่อไว้ในการเล่นซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาตั้งแต่ 3-4 ชั่วโมงต่อการเล่นรอบตำนวน 18 หลุม หรืออาจจะใช้เวลาน้อยกว่านั้น หากต้องการโดยลดจำนวนหลุมที่เล่นลงไปเหลือ 9 หลุม

สนามกอล์ฟ

สนามกอล์ฟประกอบด้วยจำนวนหลุม 18 หลุม การเล่นหนึ่งหลุมนับตั้งแต่ตีลูกจากเขตตั้งทีของหลุมนั้นต่อเนื่องไปจน กระทั่งลูกลงหลุมเรียกได้ว่าเล่นจบไปแล้วหนึ่งหลุม ในแต่ละหลุมจะมีความยากง่ายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบมาให้เล่น นอกจากนั้นยังมีส่วนประกอบอื่นๆ มากมาย เช่นระยะความยาวและความสั้นของแต่ลหลุม อุปสรรคน้ำ บ่อบังเกอร์ทราย เป็นต้น เพื่อที่จะทำให้การเล่นท้าทายขึ้น สำหรับสนามมาตรฐานจะมีจำนวนหลุม 18 หลุมหรือมากกว่านั้น อาจจะมีจำนวนถึง 36 หลุม (เท่ากับ 4 รอบๆ ละ 9 หลุม) โดยใช้จำนวน 9 หลุมของแต่ละรอบมารวมกันให้ครบในการแข่งขันต่อรอบที่กำหนดเท่ากับ 18 หลุม

หลุมแต่ละหลุมมีกำหนดมาตรฐาน (Par-พาร์) ของจำนวนครั้งที่ตี ถ้าผู้เล่นตีได้จะเท่ากับจำนวนแต้มที่ตีได้ตามมาตรฐาน (par-พาร์) ของหลุมนั้นวิธีการนับแต้มที่ตีได้ทั้งหมด

-หลุมที่ระบุว่าเป็นหลุมพาร์ 3 (Par 3) โดยทั่วไปมีความยาวไม่เกิน 250 หลา ถ้าผู้เล่นตีตั้งแต่เขตตั้งทีจนกระทั่งลูกลงหลุมในจำนวนตี 3 ครั้งก็เท่ากับว่ามีความสามารถที่ตีได้เท่ากับแต้มมาตรฐานของหลุมนี้ เรียกว่าทำพาร์ได้

-หลุมที่ระบุว่าเป็นหลุมพาร์ 4 (par 4) มีความยาวตั้งแต่ 251 หลาถึง 499 หลา ถ้าผู้เล่นตีตั้งแต่เขตตั้งทีจนกระทั่งลูกลงหลุมในจำนวนตี 4 ครั้งก็เท่ากับว่ามีความสามารถที่ตีได้เท่ากับแต้มมาตรฐานของหลุมนี้ เรียกว่าทำพาร์ได้

-หลุม ที่ระบุว่าเป็นหลุมพาร์ 5 (par 5) มีความยาว 500 หลาขึ้นไป ถ้าผู้เล่นตีตั้งแต่เขตตั้งทีจนกระทั่งลูกลงหลุมในจำนวนตี 5 ครั้งเท่ากับว่ามีความสามารถที่ตีได้เท่ากับแต้มมาตรฐานของหลุมนี้ เรียกว่าทำพาร์ได้

แต้มรวมของ 18 หลุมที่ต่ำที่สุดถือว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถที่ดีกว่า ยกเว้นการแข่งขันบางประเภท

ชื่อที่ใช้เรียกตามจำนวนแต้มที่ตีได้ของ แต่ละหลุม ตัวเลขคือจำนวนแต้มรวมของจำนวนครั้งที่ตี โดยเริ่มที่ พาร์ของหลุม (แต้มมาตรฐาน) มีดังนี้

ดับเบิ้ลอีเกิ้ล
หรืออัลบาทรอส อีเกิ้ล เบอร์ดี้ พาร์ของหลุม โบกี้ ดับเบิ้ลโบกี้ ทริบเพิ้ลโบกี้
1 2 3 4 5 6
1 2 3 4 5 6 7
2 3 4 5 6 7 8

หมายเหตุ : หลุมพาร์สามที่ตีครั้งเดียวลงหลุม มีชื่อเฉพาะเรียกว่าโฮลอินวัน

พาร์ของสนามที่มี 18 หลุม ส่วนใหญ่มีแต้มมาตรฐานรวมเท่ากับ 72 บางสนามมีแต้มมาตรฐานรวมของสนามเท่ากับ 70 หรือ 71 ขึ้นอยู่กับจำนวนหลุมที่เป็นพาร์ 3 พาร์ 4 และพาร์ 5 ยกตัวอย่างเช่น สนามที่มีพาร์ของสนามเท่ากับ 72 จะมี

-หลุมที่เป็นพาร์ 3 สี่หลุม มีแต้มมาตรฐานหลุมละสามแต้ม เท่ากับ 12 แต้ม
-หลุมที่เป็นพาร์ 4 สิบหลุม มีแต้มมาตรฐานหลุมละสี่แต้ม เท่ากับ 40 แต้ม
-หลุมที่เป็นพาร์ 5 สี่หลุม มีแต้มมาตรฐานหลุมละห้า เท่ากับ 20 แต้ม

รวมแต้มมาตรฐานของสนาม (Par of the coourse-พาร์ออฟเดอะคอร์ส) เท่ากับ 72 แต้ม สนามที่มีแต้มมาตรฐานรวม 71 หรือ 70 คณะกรรมการจัดการแข่งขันอาจจะใช้การปรับลดหลุมที่เป็นพาร์ 5 ลงไปเป็นหลุมพาร์ 4 จำนวนหนึ่งหรือสองหลุม

คำที่ใช้เรียกแต้มรวมทั้งหมดที่ตีได้สำหรับสนามที่มีแต้มมาตรฐานรวมเท่ากับ 72
-ถ้าผู้เล่นนตีได้ 72 แต้ม เรียกว่า สแควร์พาร์ (square par)
-ถ้าผู้เล่นนตีได้ ต่ำกว่า 72 แต้ม เรียกว่า อันเดอร์พาร์ (under par) หรือ
-ถ้าผู้เล่นนตีได้ เกิน 72 แต้ม เรียกว่า โอเว่อร์พาร์ (over par) เช่น
-ถ้าผู้เล่นตีได้ 70 แต้ม เรียกว่า -2 หรือ สองอันเดอร์พาร์ หรือ
-ถ้าผู้เล่นตีได้ 74 แต้ม เรียกว่า +2 สองโอเว่อร์พาร์

หมุดบนเขตตั้งทีที่แสดงสีแตกต่างกันเป็นการเลือกเล่นตามระยะของหลุม นั้นๆ ที่มีระยะความสั้น และความยาวแตกต่างกันกับสีอื่นๆ เมื่อผู้เล่นเริ่มเล่นที่หมุดสีใด จะต้องเล่นตามหมุดสีนั้นๆ จนจบรอบการแข่งขันตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้ เช่น
-หมุดสีแดงสำหรับสุภาพสตรี
-หมุดสีขาวหรือสีเหลืองสำหรับสุภาพบุรุษ
-หมุดสีน้ำเงินหรือสีดำสำหรับนักกอล์ฟอาชีพ
ผู้เล่นอาจจะใช้หมุดบนเขตตั้งทีสีใดเพื่อให้การเล่นท้าทายมากขึ้นก็ได้

แต้มต่อ (Handicap)

คำว่าแต้มต่อ หมายถึงระดับความสามารถของนักกอล์ฟสมัครเล่นแต่ละคน ผู้เล่นที่มีแต้มตต่อน้อยกว่า จะมีความสามารถในการเล่นมากกว่าผู้เล่นที่มีแต้มต่อมากกว่า สำหรับนักกอล์ฟอาชีพไม่มีแต้มต่อ แต่ใช้แต้มรวมมาแข่งขัน

สนามกอล์ฟทุกสนามจะมีช่องบอกแฮนดี้แค็ปสเกลของแต่ละหลุม (ช่องที่ระบุคำย่อ H.S. มาจากคำว่า Handicap Scale อ่านว่าแฮนดี้แค็ปสเกล) หมายถึงหลุมที่มีแฮนดี้แค็ปสเกลต่ำที่สุดคือเท่ากับ 1 จะเป็นหลุมที่มีความยากที่สุดตามลำดับถึง 18

นักกอล์ฟที่มีแต้มต่อ สนามจะให้แต้มต่อกับผู้เล่นทำได้ทั้งหมดเรียกว่าแต้มรวม (Gross Score อ่านว่า กรอสสกอร์) หักด้วยแต้มต่อ ก็จะได้แต้มสุทธิ (Net Score อ่านว่า เนทสกอร์) ผู้ที่ได้แต้มสุทธิต่ำสุดคือผู้ชนะการแข่งขัน

ในการแข่งขันแบบนับแต้ม จะต้องนำจำนวนตีที่ผู้เล่นทำได้ทั้งหมดเรียกว่าแต้มรวม (Gress Score อ่านว่า กรอสสกอร์ หักด้วยแต้มต่อ ก็จะได้แต้มสุทธิ (Net Score อ่านว่า เนทสกอร์) ผู้ที่ได้แต้มสุทธิต่ำสุดคือผู้ชนะการแข่งขัน

ในการแข่งขันนับหลุมระห่างนักกอล์ฟที่มีแต้มต่อต่างกัน เช่น แต้มต่อ 18 และ 15 ผู้เล่นที่มีแต้มต่อ 18 จะได้รับการต่อหลุมละหนึ่งแต้มจากหลุมที่ระบุแฮนดี้แค็ปสเกล 1, 2 และ 3 จากผู้ล่นที่มีแต้มต่อ 15 เป็นต้น

การเล่นและการแข่งขัน

การแข่งขันทั่วๆ ไปสำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นจะทำการแข่งขันตามรอบที่กำหนด 18 หลุม ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 วัน แต่การแข่งขันระดับนักกอล์ฟอาชีพหรือแข่งขันชิงแชมป์รายการสำคัญ จะแข่งกันในบางรายการ 3 วันๆ ละ 18 หลุมรวม 54 หลุม บางรายการแข่งขัน 4 วันๆ ละ 18 หลุมรวม 72 หลุม ขึ้นอยู่กับรอบที่กำหนดโดยคณะกรรมการจัดการแข่งขัน

ประเภทการเล่น

การเล่นในกีฬากอล์ฟแบ่งออกเป็นหลายแบบ ในแต่ละแบบก็จะแบ่งย่อยออกเป็นหลายประเภทดังนี้
1. การเล่นแบบนับแต้ม นำจำนวนแต้มรวมของแต้มที่ตีได้ ผู้ที่ตีน้อยครั้งที่สุดเป็นผู้ชนะ

2. การเล่นแบบนับหลุม ผู้ที่ชนะหลุมมากที่สุดเป็นผู้ชนะ การแข่งขันหรือการเล่นแบ่งเป็นประเภทดังนี้
-การเล่นประเภทเดี่ยว คือ การเล่นแบบนับหลุมระหว่างผู้หนึ่งคนกับผู้เล่นอีกหนึ่งคน
-การเล่นประเภทสามคนสองลูก คือ การแบบนับหลุมระหว่างผู้เล่นในฝ่ายที่มีหนึ่งคนกับผู้เล่นอีกฝ่ายที่มีสองคน แต่ละฝ่ายใช้ลูกเล่นหนึ่งลูก
-การเล่นประเภทสี่คนสองลูก คือ การเล่นแบบนับหลุมระหว่างผู้เล่นสองฝ่ายๆ ละสองคน แต่ละฝ่ายใช้ลูกเล่นหนึ่งลูก
-การเล่นประเภทสามคนสามลูก คือ การเล่นแบบนับหลุมระหว่างสามฝ่ายๆ ละหนึ่งคน โดยแข่งพบกันหมด
-การเล่นประเภทลูกดีที่สุด คือ การเล่นแบบนับหลุมระหว่างผู้เล่นหนึ่งคนกับอีกฝ่ายที่มีผู้เล่นสองคนโดย เลือกลูกที่ดีกว่า หรือเล่นกับอีกฝ่ายหนึ่งที่มีผู้เล่นสามคนโดยเลือกลูกที่ดีที่สุด
-การเล่นประเภทสี่ลูก คือ การเล่นแบบนับหลุมระหว่างผู้เล่นสองฝ่ายๆ ละสองคน โดยแต่ละฝ่ายเลือกที่ดีกว่า

3. การเล่นแบบสเตเบิ้ลฟอร์ด เป็นการเล่นแบบนับคะแนนบวกของหลุมที่ทำแต้มได้ เช่น ใช้พาร์ ดู par ของแต่ละหลุมเป็นเกณฑ์ เช่น
-แต้มที่ตีได้เกินพาร์ของหลุมที่เล่นสองแต้ม จะไม่ได้คะแนน
-แต้มที่ตีได้เกินพาร์ของหลุมที่เล่นหนึ่งแต้ม จะได้หนึ่งคะแนน
-แต้มที่ตีได้เท่ากับพาร์ของหลุมที่เล่น จะได้สองคะแนน
-แต้มที่ตีได้ต่ำกว่าพาร์ของหลุมที่เล่นหนึ่งแต้ม จะได้สามคะแนน
-แต้มที่ตีได้ต่ำกว่าพาร์ของหลุมที่เล่นสองแต้ม จะได้สี่คะแนน
-แต้มที่ตีได้ต่ำกว่าพาร์ของหลุมที่เล่นสามแต้ม จะได้ห้าคะแนน
-แต้มที่ตีได้ต่ำกว่าพาร์ของหลุมที่เล่นสี่แต้ม จะได้หกคะแนน
แล้วบวกคะแนนของทุกหลุมในรอบของการแข่งขัน ผู้ที่ทำคะแนนมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน


กฎข้อบังคับกีฬากอล์ฟ